ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับว่าเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของราชอาณาจักรอยุธยา เพราะเป็นยุคที่ไม่มีศึก สงคราม อีกทั้งยังมีคณะทูต และบาทหลวงจากประเทศต่างๆ เข้ามาเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับอาณาจักรอยุธยาเป็นจำนวนมาก ในเวลานี้เองมีขุนนางผู้หนึ่งชื่อคอนสแตนติน ฟอลคอน ผู้ซึ่งเป็นคนฉลาด หลักแหลม และมีไหวพริวในด้านการค้ามากกว่าพ่อค้าใดๆทั้งหมด จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ดำรงตำแหน่ง พยุหเสนา และเป็นตัวกลางทางด้านการค้าของอาณาจักรอยุธยาและประเทศฝรั่งเศส ต่อมาได้แต่งงานกับนางมารี กีมาร์ หรือ ท้าวทองกีบม้า หลังจากที่พระเพทราชาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื่องจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีอาการประชวนหนัก พระเพทราชาจึงได้สั่งประหารชีวิตพระยาวิชาเยนทร์ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2231 ทำให้ท้าวทองกีบม้าถูกนำตัวไปจำคุกเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี จึงถูกปล่อยตัว แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องทำขนมหวานมาส่งในวังตามอัตราที่กำหนดไว้ ด้วยเหตุที่ว่าท้าวทองกีบม้ามีชื่อเสียงในด้านการทำอาหารคาวหวาน เหตุการณ์ในครั้งนี้นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนโฉมหน้าของขนมไทยครั้งสำคัญ เพราะท้าวทองกีบม้าได้เริ่มทำขนมที่ใช้ไข่มาเป็นส่วนประกอบหลัก อาทิ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมผิง ขนมพลขนมโปร่ง ขนมทองม้วน ขนมสัมปันนี และขนมหม้อแกง ด้วยรสชาติของไข่และน้ำตาลซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของขนมหม้อแกง ทำให้ขนมหม้อแกงได้รับความนิยมชมชอบจากชนชั้นสูงในวัง และได้รับการขนานนามว่า ขนมกุมภมาส
ต่อมาเมื่อลูกมือในบ้านของท้าวทองกีบม้าได้แต่งงาน ก็ได้นำสูตรและวิธีการทำขนมหม้อแกงออกมาถ่ายทอด ทำให้ชาวบ้าน คนธรรมดา ได้มีโอกาสรู้จักกับขนมหม้อแกง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น